หัวใจสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโรคหืดคือ การตั้งเป้าหมายในการรักษาจนทีมผู้รักษามั่นใจได้ว่าผู้ป่วยสามารถควบคุมโรคหืดได้ ดังนั้นแนวปฏิบัติเมื่อพบผู้ป่วยโรคหืดทุกครั้งจึงประกอบไปด้วย ประเมิน-ปรับ-ทบทวน หรือ ป-ป-ท กระบวนการนี้จะช่วยทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมโรคได้ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้
1. ป: ประเมิน เป็นการประเมินเพื่อทบทวนการวินิจฉัยและโรคที่พบร่วม บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยโรคหืดควบคุมอาการไม่ได้เกิดจากการยังไม่ได้ค้นหาเพื่อการวินิจฉัย และให้การรักษาโรคร่วม เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคกรดไหลย้อน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น โรคหลอดลมพอง โรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล เป็นต้น ประเมินระดับการควบคุมโรคและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นสิ่งกระตุ้น เช่น สารก่อภูมิแพ้ มลพิษในอากาศ อาหารหรือสารเคมีที่แพ้ การสูบบุหรี่ รวมไปถึงการประเมินเทคนิคการสูดพ่นยาและความร่วมมือในการใช้ยาเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการที่ควบคุมโรคหืดไม่ได้ไม่ได้เกิดจากเทคนิคหรือความร่วมมือในการรักษา ซึ่งการปรับยาเพิ่มขึ้นจะไม่ช่วยทำให้อาการหืดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ดีขึ้น ในทางปฏิบัติการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทีมผู้รักษาและผู้ป่วยจะช่วยเพิ่มความร่วมมือในการรักษาได้เป็นอย่างดี
2. ป: ปรับเมื่อทำการประเมินแล้วจำเป็นต้องมีการปรับการรักษาตามระดับการควบคุมโรครวมถึงเสริมการรักษาโดยไม่ใช้ยาการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหืดและการปฏิบัติตนที่เหมาะสมเช่นการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอการลดหรือควบคุมน้ำหนักตัวการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นต้น
3. ท: ทบทวน คือการทบทวนการรักษาที่ได้ให้ไว้แล้วเพื่อพิจารณาการตอบสนองการรักษา ทบทวนสมรรถภาพปอดเพื่อให้มั่นใจได้ว่า ไม่มีภาวะหลอดลมตีบ ลดการแปรผันหรือสามารถชะลอการเสื่อมถอยของสมรรถภาพปอดได้ และทบทวนอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากการใช้ยาที่ใช้รักษา โดยเฉพาะยาพ่นกลุ่มสเตียรอยด์ เช่น การติดเชื้อราในช่องปาก ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ปอดอักเสบติดเชื้อ ภาวะกระดูกพรุนหรือต้อกระจกในผู้ป่วยสูงอายุ เป็นต้น
โดยสรุป การประเมินความรุนแรงของโรคและติดตามการรักษาด้วยกระบวนการต่างๆ ที่กล่าวมาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของสหสาขาวิชาชีพ เพื่อนำไปสู่การปรับการรักษาให้กับผู้ป่วยหืดแต่ละรายที่เหมาะสม การทบทวนเพื่อติดตามทั้งการตอบสนองและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นภายหลังรักษาจะทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมโรคหืดได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้รวมถึงปลอดภัยจากการใช้ยา
ที่มา : แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคหืดในประเทศไทย-สำหรับผู้ใหญ่ฉบับปรับปรุง-พ.ศ.2563